วันจันทร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

การศึกษาปฐมวัย

ปรัชญาการศึกษาปฐมวัย


การศึกษาปฐมวัยเป็นการพัฒนาเด็ก ตั้งแต่แรกเกิดถึง ๕ ปี* บนพื้นฐาน การอบรมเลี้ยงดูและการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ ที่สนองต่อธรรมชาติ และพัฒนาการของเด็กแต่ละคน ตาม ศักยภาพ ภายใต้บริบทสังคม-วัฒนธรรม ที่เด็กอาศัยอยู่ ด้วยความรัก ความเอื้ออาทร และความเข้าใจของทุกคน เพื่อสร้างรากฐานคุณภาพชีวิตให้เด็กพัฒนาไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เกิดคุณค่าต่อตนเองและสังคม

หลักการ


เด็กทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการอบรมเลี้ยงดูและส่งเสริมพัฒนาการ ตลอดจน การเรียนรู้อย่างเหมาะสม ด้วยปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเด็กกับพ่อแม่ เด็กกับผู้เลี้ยงดู หรือบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในการอบรมเลี้ยงดูและให้การศึกษาเด็กปฐมวัย เพื่อให้เด็กมีโอกาสพัฒนาตนเองตามลำดับขั้นของพัฒนาการทุกด้าน อย่างสมดุล และเต็มตามศักยภาพ โดยกำหนดหลักการ ดังนี้
๑. ส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาการที่ครอบคลุมเด็กปฐมวัย ทุกประเภท
๒. ยึดหลักการอบรมเลี้ยงดูและให้การศึกษาที่เน้นเด็กเป็นสำคัญ โดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล และวิถีชีวิตของเด็กตามบริบทของชุมชน สังคม และวัฒนธรรมไทย
๓. พัฒนาเด็กโดยองค์รวมผ่านการเล่นและกิจกรรมที่เหมาะสมกับวัย
๔. จัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้สามารถดำรงชีวิตประจำวันได้อย่างมีคุณภาพและมีความสุข
๕. ประสานความร่วมมือระหว่างครอบครัว ชุมชน และสถานศึกษาในการพัฒนาเด็ก
หลักสูตรการศึกษาปฐมวัย
สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า ๓ ปี

หลักสูตรการศึกษาปฐมวัย
สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า ๓ ปี

หลักสูตรการศึกษาปฐมวัยสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า ๓ ปี จัดขึ้นสำหรับพ่อแม่ ผู้เลี้ยงดูหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับการอบรมเลี้ยงดูและพัฒนาเด็ก เพื่อใช้เป็นแนวทางในการอบรมเลี้ยงดูและจัดประสบการณ์การเรียนรู้อย่างเหมาะสมกับเด็กเป็นรายบุคคล

จุดหมาย
การพัฒนาเด็กอายุต่ำกว่า ๓ ปี มุ่งส่งเสริมให้เด็กมีพัฒนาการด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญาที่เหมาะสมกับวัย ความสามารถ ความสนใจ และความแตกต่างระหว่างบุคคล เพื่อให้เด็กมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ ดังนี้
๑. ร่างกายเจริญเติบโตตามวัยและมีสุขภาพดี
๒. ใช้อวัยวะของร่างกายได้คล่องแคล่วประสานสัมพันธ์กัน
๓. มีความสุขและแสดงออกทางอารมณ์ได้เหมาะสมกับวัย
๔. รับรู้และสร้างปฏิสัมพันธ์กับบุคคลและสิ่งแวดล้อมรอบตัว
๕. ช่วยเหลือตนเองได้เหมาะสมกับวัย
๖. สื่อความหมายและใช้ภาษาได้เหมาะสมกับวัย
๗. สนใจเรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบตัว

คุณลักษณะตามวัย
ช่วง ๓ ปีแรกของชีวิตวัยเด็กเป็นช่วงระยะที่สำคัญที่สุด เนื่องจากสมองของเด็ก มีการเจริญเติบโต และพัฒนาอย่างรวดเร็ว พ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูจึงควรตระหนักถึงความสำคัญของพัฒนาการหรือการเปลี่ยนแปลงต่างๆที่เกิดขึ้นทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญา โดยที่พัฒนาการของเด็กในแต่ละช่วงอายุอาจเร็วหรือช้ากว่าเกณฑ์ที่กำหนดตามวุฒิภาวะหรือความพร้อมของเด็กและมีการพัฒนาเป็นลำดับขั้นอย่างต่อเนื่องตามวัย ถ้าสังเกตพบว่าเด็กไม่มีความก้าวหน้าอย่างชัดเจนในช่วงระยะเวลาหนึ่ง พ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดู จำเป็นต้องพาเด็กไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหรือแพทย์ทันที คุณลักษณะตามวัยที่สำคัญของเด็กอายุต่ำกว่า ๓ ปี มีดังนี้
เด็กแรกเกิด - ๒ เดือน
พัฒนาการด้านร่างกาย
l ผงกหัวหันซ้ายขวาในท่าคว่ำได้
l พลิกตัวตะแคงข้างได้เมื่อนอนหงาย
l จ้องมองได้ มองเห็นในระยะห่าง ๘ - ๑๒ นิ้ว
l จับถือของได้นาน ๒ - ๓ นาที
พัฒนาการด้านอารมณ์และจิตใจ
l ตกใจง่ายเมื่อได้ยินเสียงดัง
l ทำเสียงในคอเบาๆ เมื่อรู้สึกพอใจ
พัฒนาการด้านสังคม
l สบตา จ้องหน้าแม่
l ยิ้มได้
l หยุดร้องไห้เมื่อมีคนอุ้ม
l ชอบให้มีคนเล่นด้วย
พัฒนาการด้านสติปัญญา
l หยุดฟังหันหาเสียง
l ทำเสียงอ้อแอ้
l ใช้เสียงร้องที่ต่างกันเมื่อหิวหรือเจ็บ
l สนใจมองใบหน้าคนมากกว่าสิ่งของ

เด็กอายุ ๒ - ๔ เดือน
พัฒนาการด้านร่างกาย
l ชันคอในท่าคว่ำได้
l เหยียดขายันพื้นได้เมื่อจับยืน
l เริ่มคว้าจับสิ่งของ
l มองตามสิ่งที่เคลื่อนไหวซ้าย/ขวา บน/ล่าง ได้
พัฒนาการด้านอารมณ์และจิตใจ
l ยิ้มง่าย หัวเราะเสียงดังเมื่อพอใจ
l แสดงอารมณ์ ความรู้สึกทางสีหน้า
พัฒนาการด้านสังคม
l ร้องไห้เพื่อบอกความต้องการ เงียบเสียงเมื่อเห็นหน้าคน
l ส่งเสียงโต้ตอบเสียงพูดและรอยยิ้มของแม่
l สนใจมองและยิ้มให้กับตนเองในกระจก
พัฒนาการด้านสติปัญญา
l จำหน้าแม่และคนในครอบครัวได้
l ส่งเสียงอ้อแอ้ พยายามทำเสียงต่างๆ ในคอ
l หยุดฟังเสียง หันตามเสียงเคาะ
l สนใจจ้องมองสิ่งที่เคลื่อนไหวหรือมีเสียง

เด็กอายุ ๔ - ๖ เดือน
พัฒนาการด้านร่างกาย
l นอนคว่ำ ยกศีรษะ ยันหน้าอกได้สูง
l นั่งได้โดยพ่อแม่ต้องประคอง
l คืบ พลิกคว่ำพลิกหงาย
l มองตามสิ่งที่ผ่านไปเร็วได้
l ไขว่คว้า ใช้มือคว้าหยิบของได้มากขึ้น
พัฒนาการด้านอารมณ์และจิตใจ
l ส่งเสียงแสดงอารมณ์ต่างๆ
l รู้จักแสดงปฏิกิริยาต่อต้านเมื่อไม่พอใจ
พัฒนาการด้านสังคม
l หันหาเสียงเรียกชื่อ
l ยิ้มให้คนอื่น
พัฒนาการด้านสติปัญญา
l จำหน้าแม่และคนคุ้นเคยได้
l ส่งเสียงตามเมื่อได้ยินเสียงพูดหรือมีใครมาพูดด้วย
l เข้าใจคำเรียกชื่อคนหรือสิ่งของง่ายๆ
l ชอบมองสำรวจสิ่งของ สนใจรายละเอียดต่างๆ

เด็กอายุ ๖ - ๘ เดือน
พัฒนาการด้านร่างกาย
l หันหน้าและเอี้ยวตัวไปมาได้ดี
l นั่งทรงตัวได้เอง
l ลุกขึ้นนั่งเองได้
l ยกตัวในท่าคลาน
l คลานได้
l เอื้อมมือหยิบของด้วยมือข้างเดียว
l เปลี่ยนมือถือของได้
พัฒนาการด้านอารมณ์และจิตใจ
l ผูกพันกับพ่อแม่ หรือผู้เลี้ยงดูใกล้ชิด
l เริ่มกลัวคนแปลกหน้า
l แสดงอารมณ์เปิดเผยตามความรู้สึก
l รู้จักแสดงท่าทางดีใจ หัวเราะ อาย
พัฒนาการด้านสังคม
l เลียนแบบกิริยาท่าทางของคน
l แสดงออกถึงการรับรู้อารมณ์และความรู้สึกของผู้อื่น
พัฒนาการด้านสติปัญญา
l พยายามเลียนแบบเสียงต่างๆ ที่ได้ยิน
l พูดคุยคนเดียว
l ทำเสียงซ้ำๆ เช่น มามา หม่ำหม่ำ
l ชอบสำรวจสิ่งต่างๆ รอบตัวโดยเอาเข้าปาก
l สนใจรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ของสิ่งของ

เด็กอายุ ๘ - ๑๒ เดือน
พัฒนาการด้านร่างกาย
l คลานได้คล่อง คลานขึ้นบันไดได้
l นั่งตัวตรงได้
l เกาะยืนได้ช่วงสั้นๆ
l เกาะเดินได้
l ยืนได้ชั่วครู่ และนั่งลงจากท่ายืนได้
l หยิบของใส่ถ้วยและหยิบออกได้
l หยิบของชิ้นเล็กด้วยนิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ได้
l ตบมือ โบกมือได้
l ใช้มือทั้งสองข้างทำงานคนละอย่างได้
l มองตามของตก
พัฒนาการด้านอารมณ์และจิตใจ
l เริ่มรู้จักทำตามใจตนเอง
l ผูกพันกับผู้เลี้ยงดูใกล้ชิด
พัฒนาการด้านสังคม
l ติดแม่ กลัวการแยกจาก
l เข้าใจท่าทางและสีหน้าคนอื่น
l กลัวคนแปลกหน้าและสถานที่ใหม่ๆ
l เลียนแบบสีหน้า ท่าทางและเสียง
l ชี้บอกความต้องการได้
l ให้ความร่วมมือเมื่อแต่งตัว
l แยกตัวเองและเงาในกระจกได้
พัฒนาการด้านสติปัญญา
l รู้จักเชื่อมโยงคำพูดกับการกระทำ เช่น ไม่Ž จะสั่นหัว บ๊าย บายŽ จะโบกมือ
l ชอบฟังคำซ้ำๆ เสียงสูงๆ ต่ำๆ
l รู้ว่าคำต่างๆ เป็นสัญลักษณ์ของวัตถุนั้นๆ เช่น ถ้าพูดว่านกจะชี้ไปที่ท้องฟ้า
l เริ่มพูดเป็นคำๆ ได้บ้าง เช่น พ่อ แม่
l เรียนรู้คำใหม่เพิ่มขึ้น
l ค้นหาของที่ปิดซ่อนจากสายตาได้

เด็กอายุ ๑๒ - ๑๘ เดือน
พัฒนาการด้านร่างกาย
l ลุกขึ้นยืนเองได้
l เดินได้เอง
l ขึ้นบันไดโดยมีคนจูง
l เริ่มวิ่งได้
l เล่นกลิ้งลูกบอลเบาๆ ได้
l ถอดเสื้อผ้าง่ายๆ เองได้ เช่น กางเกงเอวรูด ถุงเท้า
l ก้มลงหยิบของที่พื้นได้โดยไม่หกล้ม
พัฒนาการด้านอารมณ์และจิตใจ
l พยายามทำสิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง ขัดใจจะโกรธ
l แสดงท่าทางพอใจเมื่อได้ยินเสียงเพลง เช่น โยกตัวไปตามจังหวะเพลง
l อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย ชอบขว้างของเวลาโกรธ
พัฒนาการด้านสังคม
l เข้าใจท่าทางและสีหน้าคนอื่น
l สนใจการกระทำของผู้ใหญ่
l เริ่มช่วยเหลือตนเองได้
l ชอบเล่นคนเดียว แต่มีผู้ใหญ่ในสายตา
l หวงของ
พัฒนาการด้านสติปัญญา
l รู้จักชื่อตนเอง
l แสดงความคิดและจินตนาการ
l เริ่มเปล่งเสียงหรือกล่าวคำพูดเกี่ยวกับการกระทำที่ทำอยู่
l เข้าใจคำพูดง่ายๆ ได้
l พูดเป็นคำๆ ได้มากขึ้น
l ทักทายโดยการใช้เสียงพร้อมท่าทางอย่างเหมาะสม
l สนใจสำรวจสิ่งรอบตัว
l ลองผิดลองถูกเพื่อแก้ปัญหา
l ขีดเขียนเส้นยุ่งๆ ได้

เด็กอายุ ๑๘ - ๒๔ เดือน
พัฒนาการด้านร่างกาย
l เดินไปข้างหน้าหรือด้านข้าง
l เดินถอยหลัง
l กระโดดสองขาอยู่กับที่ได้
l เดินขึ้นบันได โดยจับราว
l ดึงหรือผลักสิ่งของขณะเดิน
l ใช้ข้อมือได้มากขึ้น เช่น หมุนมือ หมุนสิ่งของ ฯลฯ
พัฒนาการด้านอารมณ์และจิตใจ
l กลัวความมืด กลัวเสียงดัง กลัวการถูกทิ้งให้อยู่คนเดียว
l ใช้คำพูดแสดงอารมณ์ เช่น ไม่เอา ออกไป
l ต้องการความเป็นตัวของตัวเอง ต่อต้านคำสั่ง
พัฒนาการด้านสังคม
l ใช้ช้อนตักอาหารเองได้ แต่หกเลอะเทอะบ้าง
l ดื่มน้ำจากแก้วได้เอง
l ชอบมีส่วนร่วมในงานบ้าน
l บอกสิ่งที่ต้องการด้วยคำพูดง่ายๆ ได้
l รู้จักการขอ
พัฒนาการด้านสติปัญญา
l พูดคำต่อกัน เช่น ไปเที่ยว กินข้าว ฯลฯ
l เลียนแบบคำพูดที่ผู้ใหญ่พูด
l ชอบฟังนิทานเรื่องสั้นๆ
l พยายามทำตามคำสั่ง
l มีความเข้าใจเรื่องเวลาจำกัดมาก รู้แต่เพียงเดี๋ยวนี้ เดี๋ยวก่อน
l เรียกหรือชี้ส่วนต่างๆ ของร่างกายได้
l เริ่มจำชื่อวัตถุสิ่งของที่พบเห็นบ่อยๆ ได้
l ขีดเขียนเส้นต่างๆ แต่ยังไม่ชัดเจน
l วางของซ้อนกันได้ ๓ ชั้น

เด็กอายุ ๒๔ - ๓๖ เดือน
พัฒนาการด้านร่างกาย
l วิ่งคล่องขึ้นแต่ไม่สามารถหยุดได้ทันที
l เดินถอยหลังได้
l เดินขึ้นลงบันไดได้เองโดยวางเท้าทั้ง ๒ ข้างบนบันไดขั้นเดียว
l สลับเท้าขึ้นบันไดได้เมื่ออายุย่าง ๓ ปี
l หยิบของชิ้นเล็กๆ ได้ แต่หลุดมือง่าย
l จับดินสอแท่งใหญ่ๆ ได้ด้วยนิ้วชี้และนิ้วหัวแม่มือ
พัฒนาการด้านอารมณ์และจิตใจ
l แสดงอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ ด้วยคำพูด
l มีความรู้สึกที่ดีต่อตนเอง เมื่อได้รับการยอมรับหรือชมเชย
l มีความเป็นตัวของตัวเอง
พัฒนาการด้านสังคม
l เล่นรวมกับคนอื่น แต่ต่างคนต่างเล่น
l เริ่มรู้จักเล่นเป็นกลุ่มกับเด็กอื่น
l พยายามช่วยตัวเองในเรื่องการแต่งตัว
l รู้จักขอและเริ่มรู้จักให้
l เริ่มรู้จักรอคอย
พัฒนาการด้านสติปัญญา
l มีช่วงความสนใจกับของบางอย่างได้นาน ๓-๕ นาที
l ชอบดูหนังสือภาพ
l ชอบฟังบทกลอน นิทาน คำคล้องจอง
l สนใจค้นคว้า สำรวจสิ่งต่างๆ
l เริ่มประโยคคำถาม อะไรŽ
l สนใจอยากรู้อยากเห็นสิ่งรอบตัว
l ขีดเขียนเส้นตรงเป็นแนวดิ่งได้
l วางของซ้อนกันได้ ๔ - ๖ ชั้น

สาระการเรียนรู้
เด็กอายุต่ำกว่า ๓ ปีสามารถรับรู้และเรียนรู้สิ่งต่างๆรอบตัวได้ตั้งแต่เกิด พ่อแม่หรือ ผู้เลี้ยงดูถือเป็นบุคคลสำคัญที่สุดในการช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้เด็กได้พัฒนาศักยภาพของตนอย่างเต็มที่ โดยวางรากฐานการเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง ให้เด็กมีปฏิสัมพันธ์กับ บุคคลต่างๆ ที่อยู่ใกล้ตัวและกับสิ่งแวดล้อมรอบตัวในชีวิตประจำวัน ซึ่งเด็กจะรับรู้และเรียนรู้ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง ๕ และการเคลื่อนไหว จากเรื่องที่ง่ายไปสู่เรื่องที่ซับซ้อนมากขึ้น ตามความสามารถของวัย การอบรมเลี้ยงดูและพัฒนาเด็กให้เหมาะสมกับความต้องการ ความสนใจ พัฒนาการ และความสามารถของเด็กจึงจำเป็นต้องคำนึงถึงประสบการณ์สำคัญ และสาระที่เด็กในวัยนี้ควรเรียนรู้ ตลอดจนส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม เพื่อเป็นพื้นฐาน การเรียนรู้ที่จะเชื่อมโยงความคิดในระดับที่สูงขึ้นต่อไป
สาระการเรียนรู้กำหนดเป็น ๒ ส่วน ดังนี้
๑. ประสบการณ์สำคัญ
ประสบการณ์สำคัญเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นในตัวเด็ก เพื่อพัฒนาเด็กทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญา โดยเฉพาะในระยะแรกเริ่มชีวิตหรือช่วงระยะปฐมวัยมีความสำคัญเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นรากฐานของพัฒนาการก้าวต่อไปของชีวิตบุคคลแต่ละคน ตลอดจนเป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดความสามารถ แรงจูงใจ ใฝ่เรียนรู้ ใฝ่ดี และความกระตือรือร้นในการพัฒนาตนเองของเด็ก ที่จะส่งผลต่อเนื่องจากช่วงวัยเด็ก ไปสู่วัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ ประสบการณ์สำคัญจะเกี่ยวข้องกับการจัดสภาพแวดล้อมทุกด้านที่กระตุ้นให้เด็กเกิดการเรียนรู้และมีความสามารถในการสร้างความสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ รอบตัว ในวิถีชีวิตของเด็กและในสังคมภายนอก อันจะสั่งสมเป็นทักษะพื้นฐานที่จำเป็นต่อการเรียนรู้ และสามารถพัฒนาต่อเนื่องไปสู่ระดับที่สูงขึ้น
ประสบการณ์สำคัญที่ส่งเสริมพัฒนาการทางร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และ สติปัญญา ประกอบด้วยการอบรมเลี้ยงดูของพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูในการสนับสนุนให้เด็ก ได้มีประสบการณ์ด้วยการใช้ประสาทสัมผัสทั้ง ๕ การเคลื่อนไหวส่วนต่างๆ ของร่างกาย การสร้างความรักความผูกพันกับคนใกล้ชิด การปฏิสัมพันธ์กับผู้คนและสิ่งต่างๆ รอบตัว และการรู้จักใช้ภาษาสื่อความหมาย ดังนั้น การฝึกทักษะต่างๆ ผ่านการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน และการเล่นเพื่อให้เด็กเกิดการเรียนรู้จากการเลียนแบบ ลองผิดลองถูก สำรวจ ทดลอง และ ลงมือกระทำจริง การปฏิสัมพันธ์กับวัตถุสิ่งของ บุคคล และธรรมชาติรอบตัวเด็กตามบริบทของสภาพแวดล้อม จำเป็นต้องมีการจัดประสบการณ์สำคัญแบบองค์รวมที่ยึดเด็กเป็นศูนย์กลาง ดังต่อไปนี้
๑.๑ ประสบการณ์สำคัญที่ส่งเสริมพัฒนาการด้านร่างกาย เป็นการสนับสนุนให้เด็กได้มีโอกาสพัฒนาการใช้กล้ามเนื้อใหญ่ (กล้ามเนื้อแขน-ขา-ลำตัว) กล้ามเนื้อเล็ก(กล้ามเนื้อมือ-นิ้วมือ) และการประสานสัมพันธ์ระหว่างกล้ามเนื้อและระบบประสาท (กล้ามเนื้อมือ-ประสาทตา) ในการทำกิจวัตรประจำวันหรือทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การเคลื่อนไหวส่วนต่างๆของร่างกายตามจังหวะดนตรี การเล่นเครื่องเล่นสัมผัส การเล่นออกกำลังกลางแจ้ง เป็นต้น
ประสบการณ์สำคัญที่ควรส่งเสริม ประกอบด้วย การเคลื่อนไหวและการทรงตัว การประสานสัมพันธ์ของกล้ามเนื้อและระบบประสาท เด็กควรมีโอกาสเรียนรู้ผ่านกิจกรรมและการเล่นในสภาพแวดล้อมใกล้ตัว ได้รับประสบการณ์การใช้กล้ามเนื้อใหญ่ กล้ามเนื้อเล็ก และฝึกการประสานสัมพันธ์ระหว่างแขนกับขา มือกับปาก มือกับตาไปด้วยกัน
๑.๒ ประสบการณ์สำคัญที่ส่งเสริมพัฒนาการด้านอารมณ์ จิตใจ เป็นการ สนับสนุนให้เด็กได้แสดงออกทางอารมณ์และความรู้สึกที่เหมาะสมกับวัย มีความสุข ร่าเริง แจ่มใส ได้พัฒนาความรู้สึกที่ดีต่อตนเอง และความเชื่อมั่นในตนเอง จากการปฏิบัติกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น เล่น ฟังนิทาน ท่องคำคล้องจอง ร้องเพลง เป็นต้น
ประสบการณ์สำคัญที่ควรส่งเสริม ประกอบด้วย การรับรู้อารมณ์หรือความรู้สึกของตนเอง การแสดงอารมณ์ที่เป็นสุข การควบคุมอารมณ์และการแสดงออก พ่อแม่หรือ ผู้เลี้ยงดูเป็นบุคคลที่มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการทำให้เด็กรู้สึกเป็นที่รัก อบอุ่น มั่นคง เกิดความรู้สึกปลอดภัย ไว้วางใจ ซึ่งจะส่งผลให้เด็กสร้างความรู้สึกที่ดีต่อตนเองและเรียนรู้ที่จะสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น
๑.๓ ประสบการณ์สำคัญที่ส่งเสริมพัฒนาการด้านสังคม เป็นการสนับสนุนให้เด็กได้มีโอกาสปฏิสัมพันธ์กับบุคคลและสิ่งแวดล้อมต่างๆรอบตัวในชีวิตประจำวัน ได้ปฏิบัติกิจกรรมต่างๆ เช่น เล่นอย่างอิสระ เล่นรวมกลุ่มกับผู้อื่น แบ่งปันหรือให้ รู้จักรอคอย ใช้ภาษาบอกความต้องการ ช่วยเหลือตนเองในกิจวัตรประจำวันได้
ประสบการณ์สำคัญที่ควรส่งเสริม ประกอบด้วย การช่วยเหลือตนเอง การปรับตัว อยู่ในสังคม เด็กควรมีโอกาสได้เล่นรวมกลุ่มหรือทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่นไม่ว่าจะเป็นเด็ก วัยเดียวกันหรือต่างวัย เพศเดียวกันหรือต่างเพศหรือผู้ใหญ่อย่างสม่ำเสมอ ตลอดจนฝึกให้ ช่วยเหลือตนเองในกิจวัตรประจำวันตามวัยที่เด็กสามารถทำได้
๑.๔ ประสบการณ์สำคัญที่ส่งเสริมพัฒนาการด้านสติปัญญา เป็นการสนับสนุนให้เด็กได้รับรู้และเรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบตัวในชีวิตประจำวันผ่านประสาทสัมผัสทั้ง ๕ และการเคลื่อนไหว ได้พัฒนาการใช้ภาษาสื่อความหมายและความคิด รู้จักสังเกตคุณลักษณะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสี ขนาด รูปร่าง รูปทรง ผิวสัมผัส จดจำชื่อเรียกสิ่งต่างๆ รอบตัว มีการฝึกการใช้อวัยวะรับสัมผัสต่างๆ ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น และผิวหนังในการแยกแยะสิ่งที่รับรู้และเรียนรู้เกี่ยวกับความเหมือน ความแตกต่าง และมิติสัมพันธ์
ประสบการณ์สำคัญที่ควรส่งเสริม ประกอบด้วย การสังเกต การฟัง การคิด การแก้ปัญหา และภาษา เด็กควรได้รับการชี้แนะให้รู้จักคุณลักษณะหรือคุณสมบัติของ สิ่งต่างๆรอบตัว สังเกตวัตถุหรือสิ่งของที่มีสีสันและรูปทรงที่แตกต่างกัน เด็กควรได้ฝึก การฟังเสียงต่างๆ รอบตัว โดยเฉพาะเสียงพูดหยอกล้อโต้ตอบของพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดู เพื่อ กระตุ้นให้เด็กออกเสียงและเลียนเสียงจนพัฒนาเป็นคำพูดที่สื่อความหมายได้มากขึ้น เด็กควรมีโอกาสสำรวจ ค้นคว้า ทดสอบ ทดลองวัตถุสิ่งของที่เป็นของจริง สิ่งของที่เลียนแบบของจริง และสิ่งของที่ไม่มีรูปแบบชัดเจน ตลอดจนฝึกให้เด็กได้คิดวางแผน คิดตัดสินใจหรือ คิดแก้ปัญหาในเรื่องที่ง่ายๆ ด้วยตนเอง และให้เด็กได้แสดงออกถึงจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ ต่างๆ ออกมาเป็นภาพวาดหรือบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ตามความสามารถของวัย
๒. สาระที่ควรเรียนรู้
สาระที่จะให้เด็กอายุต่ำกว่า ๓ ปี เรียนรู้ควรเป็นเรื่องที่อยู่ใกล้ตัวเด็กเป็นลำดับแรก แล้วจึงขยายไปถึงเรื่องที่อยู่ไกลตัวเด็ก ซึ่งข้อมูลที่เด็กเริ่มต้นเรียนรู้มาจากการพูดคุยโต้ตอบ ชี้ชวนให้ดู สอน หรือพูดบอก โดยพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดู ให้เด็กรู้จักชื่อเรียกและคุณสมบัติของสิ่งต่างๆ ใกล้ตัวเด็ก สาระที่ควรเรียนรู้มีดังนี้
๒.๑ เรื่องราวเกี่ยวกับตัวเด็ก เด็กควรจะได้รู้จักชื่อของตนเอง เริ่มต้นจาก ชื่อเล่น ได้รู้จักรูปร่าง หน้าตาและชื่อเรียกส่วนต่างๆ ของร่างกาย ตลอดจนได้สำรวจ ความสามารถของตนเองในการทำสิ่งต่างๆ ได้ เช่น คลานได้ หยิบของได้ เป็นต้น
๒.๒ เรื่องราวเกี่ยวกับบุคคลและสถานที่แวดล้อมเด็ก เด็กควรจะมีโอกาสรู้จักชื่อของพ่อแม่ พี่น้องและบุคคลต่างๆ ในครอบครัว ตลอดจนมีโอกาสได้พบปะ พูดคุย ทำความรู้จักกับชื่อเรียกหรือสรรพนามแทนตัวของญาติหรือผู้เลี้ยงดู รวมทั้งมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนในครอบครัว ชุมชนและสังคม-วัฒนธรรมที่อยู่ใกล้ตัวในชีวิตประจำวัน เช่น เล่นกับ พี่น้องในบ้าน ไปตลาดกับแม่ เป็นต้น
๒.๓ ธรรมชาติรอบตัว เด็กควรจะได้รู้จักชื่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิตรอบตัว รวมทั้งมีการเชื่อมโยงลักษณะหรือคุณสมบัติอย่างง่ายๆของสิ่งต่างๆ ในธรรมชาติที่พบเห็นในชีวิตประจำวันจากการชี้แนะหรือสำรวจ
๒.๔ สิ่งต่างๆ รอบตัวเด็ก เด็กควรจะได้รู้จักชื่อของวัตถุสิ่งของ เครื่องใช้หรือของเล่นที่อยู่รอบตัว รวมทั้งมีการเชื่อมโยงลักษณะหรือคุณสมบัติอย่างง่ายๆ ของสิ่งต่างๆ ที่อยู่ใกล้ตัวเด็ก เช่น สี รูปร่าง รูปทรง ขนาด ผิวสัมผัส เป็นต้น

การจัดประสบการณ์
การจัดประสบการณ์สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า ๓ ปี เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้จาก ประสบการณ์ตรง เกิดความรู้ ทักษะ คุณธรรม จริยธรรม ได้พัฒนาทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญา ซึ่งสามารถจัดในรูปของกิจกรรมบูรณาการผ่านการเล่น ดังนี้
๑. หลักการจัดประสบการณ์ ควรคำนึงถึงสิ่งสำคัญต่อไปนี้
๑.๑ เลี้ยงดูเด็กให้มีสุขภาพที่ดีและปลอดภัย
๑.๒ มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับเด็กด้วยวาจาและท่าทีที่อบอุ่นเป็นมิตร
๑.๓ จัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้สอดคล้องกับธรรมชาติ ความต้องการและพัฒนาการของเด็ก
๑.๔ จัดสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย เอื้อต่อการเรียนรู้ตามวัยของเด็ก
๑.๕ ประเมินการเจริญเติบโตและพัฒนาการเด็กอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ
๑.๖ ประสานความร่วมมือระหว่างครอบครัว ชุมชน และสถานศึกษาในการพัฒนาเด็ก
๒. แนวการจัดประสบการณ์
๒.๑ ดูแลสุขภาพอนามัยและตอบสนองความต้องการพื้นฐานทางร่างกายและจิตใจของเด็ก
๒.๒ สร้างบรรยากาศของความรัก ความอบอุ่น ความไว้วางใจ และความมั่นคงทางอารมณ์
๒.๓ จัดประสบการณ์ตรง ให้เด็กได้เลือก ลงมือกระทำและเรียนรู้จาก ประสาทสัมผัสทั้ง ๕ และการเคลื่อนไหวผ่านการเล่น
๒.๔ เปิดโอกาสให้เด็กมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลที่แวดล้อมและสิ่งต่างๆ รอบตัวเด็ก อย่างหลากหลาย
๒.๕ จัดสถานที่ วัสดุอุปกรณ์ เครื่องใช้และของเล่นที่สะอาด ปลอดภัย เหมาะสมกับเด็ก
๒.๖ ใช้การสังเกตและติดตามการเจริญเติบโตและพัฒนาการอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ
๒.๗ ให้ครอบครัว ชุมชน และสถานศึกษามีส่วนร่วมในการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้กับเด็ก
๓. การจัดกิจกรรมประจำวัน
กิจกรรมสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า ๓ ปี มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการวางรากฐานการเรียนรู้และการพัฒนาทักษะพื้นฐานของเด็กทั้งทางร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และ สติปัญญา การจัดกิจกรรมควรจัดให้สอดคล้องกับความต้องการ ความสนใจ และ ความสามารถของเด็กตามวัย โดยบูรณาการกิจกรรมการเรียนรู้ผ่านการอบรมเลี้ยงดูตาม วิถีชีวิตประจำวันและการเล่นของเด็กตามธรรมชาติที่เหมาะสมกับวัย ดังนี้
๓.๑ การฝึกสุขนิสัยและลักษณะนิสัยที่ดี เป็นกิจกรรมที่สร้างเสริมสุขนิสัย ที่ดีในเรื่องการรับประทานอาหาร การนอน การทำความสะอาดร่างกาย การขับถ่าย ตลอดจนปลูกฝังลักษณะนิสัยที่ดีในการดูแลสุขภาพอนามัยและการแสดงมารยาทที่สุภาพ นุ่มนวล แบบไทย
๓.๒ การใช้ประสาทสัมผัสทั้ง ๕ เป็นกิจกรรมที่ช่วยกระตุ้นการรับรู้ผ่าน ประสาทสัมผัสทั้ง ๕ ในการมองเห็น การได้ยินเสียง การลิ้มรส การได้กลิ่น และการสัมผัส จับต้องสิ่งต่างๆ ที่แตกต่างกันในด้านขนาด รูปร่าง ความยาว สี น้ำหนัก และผิวสัมผัส เช่น การเล่นมองตนเองกับกระจกเงา การเล่นของเล่นที่มีพื้นผิวแตกต่างกัน เป็นต้น
๓.๓ การฝึกการประสานสัมพันธ์ระหว่างมือ-ตา เป็นกิจกรรมที่ฝึกความ แข็งแรงของกล้ามเนื้อมือ นิ้วมือให้พร้อมที่จะหยิบจับ ฝึกการทำงานอย่างสัมพันธ์กันระหว่างมือและตา รวมทั้งฝึกให้เด็กรู้จักคาดคะเน หรือกะระยะทางของสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัวเทียบกับตัวเองในลักษณะใกล้กับไกล เช่น มองโมบายส์ที่มีสีและเสียง ร้อยลูกปัด เล่นพลาสติกสร้างสรรค์ เล่นหยอดบล็อกรูปทรงลงกล่อง ตอกหมุด โยนรับลูกบอล ตักน้ำหรือทราย ใส่ภาชนะ เป็นต้น
๓.๔ การเคลื่อนไหวและการทรงตัว เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมการใช้กล้ามเนื้อแขนกับขา มือกับนิ้วมือ และส่วนต่างๆ ของร่างกายในการเคลื่อนไหวหรือออกกำลังกาย ทุกส่วน โดยการจัดให้เด็กเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อใหญ่-เล็ก ตามความสามารถของวัย เช่น คว่ำ คลาน ยืน เดิน เล่นนิ้วมือ เคลื่อนไหวส่วนต่างๆ ของร่างกายตามเสียงดนตรี วิ่งไล่จับ ปีนป่ายเครื่องเล่นสนาม เล่นชิงช้า ม้าโยก ลากจูงของเล่นมีล้อ ขี่จักรยานสามล้อ เป็นต้น
๓.๕ การส่งเสริมด้านอารมณ์และจิตใจ เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมการเลี้ยงดู ในการตอบสนองความต้องการของเด็กด้านจิตใจ โดยการจัดสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมให้เด็กเกิดความรู้สึกอบอุ่นและมีความสุข เช่น อุ้ม โอบกอด ตอบสนองต่อความรู้สึกที่เด็กแสดงออก เป็นต้น
๓.๖ การส่งเสริมทักษะทางสังคม เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมการสร้างความสัมพันธ์กับพ่อแม่ ผู้เลี้ยงดู และบุคคลใกล้ชิด โดยการพูดคุยหยอกล้อหรือเล่นกับเด็กหรือ พาเด็กไปเดินเล่นนอกบ้าน พบปะเด็กอื่นหรือผู้ใหญ่ เช่น เล่นจ๊ะเอ๋ พาไปบ้านญาติ เป็นต้น
๓.๗ การส่งเสริมทักษะทางภาษา เป็นกิจกรรมที่ฝึกให้เด็กได้เปล่งเสียง เลียนเสียงพูดของผู้คน เสียงสัตว์ต่างๆ รู้จักชื่อเรียกของตนเอง ชื่อพ่อแม่หรือผู้คนใกล้ชิดและ ชื่อสิ่งต่างๆ รอบตัว ตลอดจนรู้จักสื่อความหมายด้วยคำพูดและท่าทาง เช่น ชี้ชวนและสอนให้รู้จักชื่อเรียกสิ่งต่างๆ จากของจริง เล่านิทานหรือร้องเพลงง่ายๆ ให้ฟัง เป็นต้น
๓.๘ การส่งเสริมจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ เป็นกิจกรรมที่ฝึกให้เด็กได้แสดงออกทางความคิดตามจินตนาการของตนเอง เช่น ขีดเขียนวาดรูป เล่นสมมติ ทำกิจกรรมศิลปะ เล่นของเล่นสร้างสรรค์ เป็นต้น

การประเมินพัฒนาการ
การประเมินพัฒนาการเด็กอายุต่ำกว่า ๓ ปี ควรประเมินทุกช่วงอายุ เพราะเด็กเล็กมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและสมองอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะในช่วงขวบปีแรกและมีความเสี่ยงต่อสภาพความผิดปกติต่างๆ จึงจำเป็นต้องเฝ้าระวังและติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด พ่อแม่ ผู้เลี้ยงดู หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับการอบรมเลี้ยงดูและพัฒนาเด็ก ควรสังเกตพัฒนาการเด็กจากคุณลักษณะตามวัย โดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลของเด็กแต่ละคน หากพบความผิดปกติ ต้องรีบพาไปพบแพทย์หรือผู้ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับพัฒนาการเด็ก เพื่อหาทางแก้ไขหรือบำบัด ฟื้นฟูโดยเร็วที่สุด โดยมีหลักในการประเมินพัฒนาการ ดังนี้
๑. ประเมินพัฒนาการของเด็กครบทุกด้าน
๒. ประเมินเป็นรายบุคคลอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง
๓. ประเมินด้วยวิธีการที่หลากหลาย ครอบคลุมการสังเกตพฤติกรรมของเด็กในกิจกรรมต่างๆ และกิจวัตรประจำวันหรือสัมภาษณ์ผู้ใกล้ชิดกับเด็ก
๔. บันทึกพัฒนาการลงในสมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็กของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข หรือของหน่วยงานอื่น
๕. นำผลที่ได้จากการประเมินพัฒนาการไปพิจารณาจัดกิจกรรม เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กเรียนรู้และมีพัฒนาการเหมาะสมตามวัย

การใช้หลักสูตร
สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย พ่อแม่ ผู้เลี้ยงดูหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับการอบรมเลี้ยงดูและพัฒนาเด็ก จะนำหลักสูตรการศึกษาปฐมวัยไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ตรงตามเจตนารมณ์ของหลักสูตร ที่มุ่งเน้นการอบรมเลี้ยงดูและส่งเสริมการเรียนรู้ ควรดำเนินการดังนี้

๑. การใช้หลักสูตรการศึกษาปฐมวัยสำหรับสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย
เด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึง ๓ ปีควรได้รับการอบรมเลี้ยงดูจากพ่อแม่หรือบุคคลในครอบครัว แต่เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน ประกอบกับครอบครัวส่วนใหญ่มักจะเป็นครอบครัวเดี่ยว พ่อแม่ต้องนำเด็ก ไปรับการเลี้ยงดูในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยซึ่งเปรียบเสมือนบ้านที่สองของเด็ก ดังนั้น ผู้บริหารสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย และผู้เกี่ยวข้องในการเลี้ยงดูเด็ก ควรดำเนินการใช้หลักสูตรการศึกษาปฐมวัยอย่างมีประสิทธิภาพ ตรงตามปรัชญาและหลักการของหลักสูตรการศึกษาปฐมวัยที่มุ่งเน้นการอบรมเลี้ยงดูและส่งเสริมพัฒนาการทุกด้าน รวมทั้งการประสานความ ร่วมมือระหว่างครอบครัว ชุมชน และท้องถิ่นให้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเด็ก ดังนั้นสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยควรจัดให้มีการดำเนินการใช้หลักสูตรการศึกษาปฐมวัย ดังนี้
๑.๑ การเตรียมการใช้หลักสูตร
๑.๑.๑ ศึกษารวบรวมข้อมูลด้านต่างๆ เช่น วิธีการอบรมเลี้ยงดูและความต้องการของพ่อแม่ ผู้ปกครอง วัฒนธรรมและความเชื่อของท้องถิ่น ความพร้อมของ สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย รวมทั้งหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย ฯลฯ นำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อกำหนดเป้าหมายการจัดกิจกรรมส่งเสริมพัฒนาการเด็กแต่ละช่วงอายุ
๑.๑.๒ จัดหาผู้เลี้ยงดูเด็กหรือผู้สอนที่มีความรู้ ความสามารถและประสบการณ์ ตลอดจนมีเจตคติที่ดีต่อการพัฒนาเด็ก และจัดให้มีเอกสารหลักสูตรและคู่มือต่างๆ อย่างเพียงพอที่จะใช้เป็นแนวทางดำเนินงาน ตลอดจนพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย และมีความเข้าใจในเป้าหมายของการพัฒนาเด็กปฐมวัยอย่างชัดเจน
๑.๒ การดำเนินการใช้หลักสูตร
การนำหลักสูตรการศึกษาปฐมวัยไปสู่การปฏิบัติเพื่อให้บรรลุตามปรัชญา หลักการ และจุดหมาย มีแนวทางดำเนินงาน ดังนี้
๑.๒.๑ การจัดทำสาระของหลักสูตร ควรดำเนินการดังต่อไปนี้
l ศึกษาจุดหมายหรือคุณลักษณะที่พึงประสงค์ตามที่หลักสูตรระบุถึงความสามารถหรือพฤติกรรมการเรียนรู้ที่ต้องเกิดขึ้นหลังจากเด็กได้รับประสบการณ์ที่ เหมาะสมในแต่ละช่วงอายุ
l กำหนดสาระที่ควรเรียนรู้ในแต่ละช่วงอายุอย่างกว้างๆ ให้ครอบคลุมพัฒนาการทั้ง ๔ ด้าน โดยผ่านประสบการณ์สำคัญและมีลำดับขั้นตอนของ การเรียนรู้จากง่ายไปหายาก หรือจากสิ่งใกล้ตัวไปไกลตัว
l จัดทำแผนการจัดประสบการณ์พร้อมสื่อการเรียนรู้ โดยคำนึงถึงความยากง่ายต่อการรับรู้และเรียนรู้ตามความสามารถของเด็กแต่ละวัยและความแตกต่างทางสังคม-วัฒนธรรมโดยอาจประยุกต์ใช้สื่อที่ทำขึ้นเองได้
๑.๒.๒ การจัดประสบการณ์สำหรับเด็กต้องมุ่งเน้นการจัดประสบการณ์ที่ยึดเด็กเป็นสำคัญ โดยคำนึงถึงการพัฒนาเด็กโดยองค์รวม การจัดกิจกรรมต่างๆ ตามกิจวัตรประจำวันและการบูรณาการผ่านการเล่น
๑.๒.๓ การสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ สถานพัฒนาเด็กปฐมวัยต้องจัดบรรยากาศที่อบอุ่นคล้ายบ้านหรือครอบครัว ตลอดจนดูแลความปลอดภัยของสิ่งแวดล้อมทั้งภายในและภายนอก รวมทั้งจัดให้มีสื่อและอุปกรณ์ต่างๆ ที่หลากหลายเหมาะสมกับเด็ก เพื่อสนับสนุนให้เด็กได้รับการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพและเรียนรู้อย่างมีความสุข

๒. การใช้หลักสูตรการศึกษาปฐมวัยสำหรับพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดู
พ่อแม่ทุกคนมีวิธีการและความเชื่อในการอบรมเลี้ยงดูลูกแตกต่างกันไปตาม แนวความคิดและสภาพแวดล้อมของท้องถิ่นที่ตนเองอยู่อาศัย หลักสูตรการศึกษาปฐมวัย ฉบับนี้จะเป็นแนวทางให้พ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย ใช้ในการจัดกิจกรรมหรือประสบการณ์เพื่อส่งเสริมพัฒนาการทุกด้านของเด็กให้เจริญเติบโตและพัฒนาเหมาะสมกับวัย ซึ่งมีข้อแนะนำในการใช้ ดังนี้
๒.๑ ศึกษาปรัชญา หลักการ และจุดหมายของหลักสูตร เพื่อทำความเข้าใจกับแนวทางการพัฒนาเด็กอย่างมีคุณภาพโดยยึดเด็กเป็นสำคัญ
๒.๒ ศึกษาคุณลักษณะที่พึงประสงค์เพื่อใช้เป็นแนวทางการพัฒนาคุณภาพ การอบรมเลี้ยงดูและพัฒนาเด็กปฐมวัยให้สอดคล้องกับพัฒนาการตามวัยและการเรียนรู้อย่างมีความสุข
๒.๓ อบรมเลี้ยงดูและจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมพัฒนาการเด็กอย่างเหมาะสมกับวัย โดยดูจากสาระการเรียนรู้และการจัดประสบการณ์
๒.๔ ติดตามประเมินพัฒนาการทุกด้านของเด็ก โดยการสังเกตและบันทึก การเจริญเติบโตและพัฒนาการตามช่วงอายุที่กำหนด รวมถึงการเฝ้าระวังปัญหาพัฒนาการ ที่ล่าช้าหรือความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นกับเด็ก ถ้าพบว่าเด็กมีพัฒนาการช้ากว่าปกติ ควรปรึกษาแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเพื่อช่วยเหลือเด็กต่อไป
๒.๕ ยอมรับความแตกต่างระหว่างบุคคลของเด็ก เด็กแต่ละคนมีพัฒนาการ เร็ว ช้าต่างกัน พ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูไม่ควรเปรียบเทียบกับเด็กอื่น หรือเลือกปฏิบัติต่อเด็กเฉพาะคน แต่ควรจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมพัฒนาการด้านที่บกพร่องหรือด้านที่เด็กขาดโอกาสใน การเรียนรู้

การจัดการศึกษาปฐมวัย (เด็กอายุต่ำกว่า ๓ ปี) สำหรับกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ
การจัดการศึกษาปฐมวัยสำหรับเด็กพิการ เด็กด้อยโอกาส เด็กที่มีความสามารถพิเศษ สามารถปรับคุณลักษณะที่พึงประสงค์ให้เหมาะสมกับศักยภาพของเด็กแต่ละประเภท โดยเฉพาะเด็กเล็กอายุต่ำกว่า ๓ ปี มีความเสี่ยงต่อสภาพความผิดปกติ พ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด หากพบความผิดปกติต้องช่วยเหลือบำบัด ฟื้นฟูโดยเร็วที่สุด

การเชื่อมต่อของการศึกษาปฐมวัย (เด็กอายุต่ำกว่า ๓ ปี) กับ การเรียนรู้ในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย
ก่อนที่เด็กอายุต่ำกว่า ๓ ปีจะเข้าสู่สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย ควรมีการเตรียมตัว พ่อแม่ ผู้เลี้ยงดู หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับการอบรมเลี้ยงดูและพัฒนาเด็กในการสร้างรอยต่อ การเรียนรู้ของเด็กที่ได้ประสบการณ์จากบ้านสู่สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย เพราะเด็กจะต้อง ปรับตัวในการสร้างความสัมพันธ์กับบุคคล สถานที่ และสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างไปจากบ้าน การเชื่อมต่อซึ่งจะมีผลให้เด็กได้รับการอบรมเลี้ยงดูและการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ ครอบครัวและสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย ควรปฏิบัติดังนี้
๑. ครอบครัว
๑.๑ รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับตัวเด็ก เป็นสิ่งสำคัญมากในการส่งต่อการอบรมเลี้ยงดูและพัฒนาเด็ก ข้อมูลเกี่ยวกับตัวเด็กได้แก่
๑.๑.๑ ข้อมูลด้านการเจริญเติบโตทางร่างกาย ได้แก่ ขนาด ความยาวเส้นรอบศีรษะ น้ำหนัก ส่วนสูงควรอยู่ในเกณฑ์ปกติ หากพบว่ามีความผิดปกติ เช่น น้ำหนักน้อยอยู่ในเกณฑ์อันตราย ต้องรีบแก้ปัญหาโดยปรึกษาแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข
๑.๑.๒ ข้อมูลด้านพัฒนาการของเด็ก ได้แก่ ความสามารถด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญา
๑.๑.๓ ข้อมูลด้านสุขภาพและประวัติการเจ็บป่วย ได้แก่ ภาวะโภชนาการ ประวัติการได้รับภูมิคุ้มกันโรค บันทึกการเจ็บป่วยในแต่ละช่วงวัย
๑.๒ บทบาทพ่อแม่ ผู้เลี้ยงดู หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับการอบรมเลี้ยงดูและพัฒนาเด็ก มีดังนี้
๑.๒.๑ ต้องมีความพร้อมในการให้ข้อมูลพื้นฐานของเด็ก โดยให้ รายละเอียดตามผลการบันทึกในสมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็กของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขหรือของหน่วยงานอื่น
๑.๒.๒ เป็นแบบอย่างที่ดีของเด็กในการใช้ชีวิตครอบครัวอย่างอบอุ่นมั่นคง มีการสื่อสารทางบวกระหว่างสมาชิกในครอบครัว มีการปฏิบัติต่อกันด้วยความรัก ความเอื้ออาทร และการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มีการใช้เหตุผลในการแก้ปัญหาต่างๆ และมีคุณธรรมและจริยธรรมในการดำเนินชีวิต
๑.๒.๓ ต้องพิจารณาเลือกสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานตามมาตรฐานการเลี้ยงดูเด็กอายุต่ำกว่า ๓ ปี
๑.๒.๔ ตระหนักถึงความสำคัญที่จะร่วมมือกับสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยในการส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กตามวัย
๑.๒.๕ ให้ความร่วมมือ ปฏิบัติตามคำแนะนำของสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย เลี้ยงดูเด็กด้วยการให้ความรัก ความอบอุ่น ความเอื้ออาทร ความปลอดภัย และ ส่งเสริมให้เด็กมีอิสระในการทำสิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง ตลอดจนส่งเสริมให้เด็กมีจินตนาการและความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
๑.๒.๖ ประสานความร่วมมือระหว่างบ้านและสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยในการพัฒนาเด็กไปในทิศทางเดียวกัน
๑.๒.๗ สร้างความคุ้นเคยระหว่างเด็กกับสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย ก่อนที่จะให้เด็กเข้ารับการอบรมเลี้ยงดูในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย
๒. สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย
๒.๑ บุคลากรในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย
๒.๑.๑ บุคลากรทุกคนในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยต้องตระหนักถึงการสร้างบรรยากาศของความรัก ความอบอุ่น มีความเป็นมิตร มีความเมตตาต่อเด็กและ ช่วยส่งเสริมให้เด็กเกิดความไว้วางใจผู้อื่น อันเป็นพื้นฐานสำคัญของการปรับตัวเข้ากับ สภาพแวดล้อมใหม่
๒.๑.๒ บุคลากรทุกคนในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย ควรเป็นแบบอย่าง ที่ดีให้กับเด็ก เช่น มีความเมตตา มีการใช้ภาษาที่สร้างสรรค์ มีกิริยามารยาทสุภาพ ใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์ ฯลฯ
๒.๒ การจัดกิจกรรม
๒.๒.๑ จัดกิจกรรมที่ส่งเสริมให้เด็กเกิดความคุ้นเคยกับสิ่งแวดล้อมใหม่ ทั้งในด้านบุคคล ได้แก่ ครู เด็ก และบุคลากรอื่น ด้านสถานที่ วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ รวมทั้งส่งเสริมการเรียนรู้ให้โอกาสเด็กได้ทำกิจกรรมด้วยตนเอง จัดเตรียมของเล่นและ สื่อเพื่อการเล่น ให้เด็กได้สำรวจ ค้นคว้า ทดลองสิ่งใหม่ๆ ตามลำพังและเป็นกลุ่มในสถานที่ปลอดภัย แต่ไม่ควรละทิ้งให้เด็กอยู่ตามลำพัง
๒.๒.๒ ให้คำชมเมื่อเด็กทำถูกต้อง แต่ไม่ลงโทษหรือดุว่าอย่างรุนแรงเมื่อทำไม่ถูกและควรอธิบายให้เด็กเข้าใจ
๒.๒.๓ จัดกิจกรรมที่ส่งเสริมพัฒนาการทุกด้าน และส่งเสริมให้เด็กรู้จักช่วยเหลือตนเองตามโอกาส
๒.๒.๔ จัดกิจกรรมที่สร้างสัมพันธภาพระหว่างบ้านกับสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยอย่างสม่ำเสมอจนเกิดความใกล้ชิดระหว่างบ้านกับสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย













วันจันทร์ที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2551